วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรประมง

พระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรประมง



    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านการประมงมาเป็นเวลาช้านาน พระราชกรณียกิจและพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาการประมงในด้านต่าง ๆ ทำให้การพัฒนาการประมงของประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่การประมงของประเทศ ทรงมีพระบรมราโชบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการประมง ทั้งในด้าน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง การส่งเสริมการประมง และ การพัฒนาวิชาการและการวิจัยทางด้านการประมง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


 พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการประมง นับว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย และอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เริ่มเมื่อกรมประมงแห่งเมืองปีนังได้ส่งปลาหมอเทศให้กรมประมงไทยทดลองเพาะเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ปรากฎว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อโรคและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจำนวนหนึ่งมาทดลองเลี้ยงในพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศเข้ารับพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศที่ผลิตได้เพื่อนำไปเลี้ยงแพร่ขยายพันธุ์ในตำบล และหมู่บ้านของตนต่อไป พระราชกรณียกิจครั้งนี้นับว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย ที่ทำให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้และสนใจการเลี้ยงปลาขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

          พระราชกรณียกิจในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญยิ่ง และนับว่าอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคคือ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิล ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกา (Tilapia Nilatica) จำนวน ๕๐ ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๕๐ ตัว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิตและต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลานิลเพิ่มขึ้นอีก ๖ บ่อ และได้ทรงย้ายปลานิลจากบ่อเดิมไปเลี้ยงในบ่อใหม่ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า "ปลานิล" และได้พระราชทานลูกปลานิล ๑๐,๐๐๐ ตัว ให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน กรุงเทพมหานคร และที่สถานีประมงต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อในบริเวณสวนจิตรลดา เพิ่มขึ้นอีก ๓ บ่อ รวมเป็น ๙ บ่อ

          กรมประมงได้ดำเนินการขยายพันธุ์ปลานิลเป็นจำนวนมาก และได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ จนถึงปัจจุบันปีละเป็นจำนวนหลายล้านตัว ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่เพาะเลี้ยงไว้ในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตสมทบแจกจ่ายให้แก่ราษฎรตามความต้องการของราษฎรอีกเป็นประจำ ปัจจุบันนี้สถานีประมงและเอกชนสามารถผลิตพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้เป็นจำนวนมาก และได้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในทุกภูมิภาค นอกจากนี้การที่ได้มีการปล่อยปลานิลลงแหล่งน้ำต่าง ๆ ทำให้ปลานิลกลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยชนิดหนึ่ง เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้แก่ราษฎรทั่วไปในทุกภูมิภาคและเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสำหรับราษฎรในท้องถิ่น ในปัจจุบันปลานิลในแหล่งน้ำธรรมชาติส่วนหนึ่งมีปัญหาการกลายพันธุ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจากบ่อสวนจิตรลดาให้กรมประมงเพื่อใช้เป็นหลักในการควบคุมพันธุกรรม

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ให้ศึกษาหาวิธีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาที่ไม่สร้างมลภาวะโดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ๑ ส่วน บ่อเก็บน้ำทะเล ๑ ส่วน และบ่อเก็บเลน ๑ ส่วน โดยบ่อเลี้ยงกุ้งมีขนาด ๕ ไร่ บ่อเก็บน้ำทะเลมีขนาด ๑ ไร่ และบ่อเก็บเลนมีขนาดครึ่งไร่ ในการเลี้ยงกุ้งทะเล ๑ บ่อ จึงใช้พื้นที่ ๖ ไร่ครึ่ง ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงไม่มีการถ่ายเทน้ำออกจากบ่อกุ้ง จะใช้น้ำจากบ่อเก็บน้ำเติมเพื่อทดแทนการระเหยและรั่วซึม โดยในบ่อเก็บกักน้ำมีระบบบำบัดน้ำแบบชีวภาพเพื่อปรับคุณภาพน้ำที่สูบเข้ามาจากแหล่งน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อนใช้ โดยใช้หญ้าทะเลและสาหร่ายเป็นตัวบำบัด และใช้ปลาเป็นตัวควบคุมความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร
          ในพื้นที่ดินมีกรดจัดในบริเวณพรุ มีพระราชดำริว่าน่าจะใช้เป็นประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำได้ เพราะได้ทรงสังเกตว่ามีปลาธรรมชาติหลายชนิดอาศัยอยู่ได้ จึงมีพระราชดำริให้กรมประมงสำรวจหาพันธุ์ปลาทางเศรษฐกิจที่สามารถเลี้ยงในพื้นที่พรุได้ ซึ่งจากการทดลองเลี้ยงโดยกรมประมงปรากฎว่าปลาดุกลำพันและปลาสลิดสามารถเจริญเติบโตได้ดี จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประมงดำเนินการทดลองเลี้ยงเชิงพาณิชย์ในบริเวณศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
          พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค และได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการวิจัยพัฒนาทางวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสาธิตให้ราษฎรที่สนใจตามศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกภูมิภาค ทำให้การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำ

   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ มีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งหรืออุทกภัย และเนื่องจากทรงตระหนักว่าสัตว์น้ำเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญของราษฎรในท้องถิ่น จึงโปรดเกล้าฯให้มีการพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำควบคู่ไปด้วยในทุก ๆ แห่ง โดยดำเนินการพัฒนาทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และการจัดการทางด้านการประมงควบคู่กันไป ในแหล่งน้ำธรรมชาติก็ได้มีพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาการประมงให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและส่งเสริมให้ราษฎรใช้ประโยชน์และดำเนินการจัดการการประมงเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากปลาในแหล่งน้ำอย่างแท้จริง ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ณ บริเวณบ้านก๊กส้มโฮง ตำบลกุสุมนย์ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ดังความตอนหนึ่งว่า
          "สำหรับอ่างเก็บน้ำก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนส่วนรวมของราษฎร..."
และพระราชดำรัสที่พระราชทานพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ ความตอนหนึ่งว่า
          "...ควรดำเนินการพัฒนาการประมงให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและส่งเสริมให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ ทั้งการประมงและการปลูกพืชผัก บริเวณรอบ ๆ หนองน้ำด้วย เพราะการขุดบ่อใหม่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วม ปลาก็จะหนีไปหมด..."
          "...เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากปลาในอ่างอย่างแท้จริง จึงควรจะตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์การจับปลา ในเวลาเดียวกันกับที่มีการจับปลาก็ควรจะมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปลาด้วย ถ้าสามารถศึกษาและทำให้การจับปลาบริเวณนี้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ โดยไม่แย่งกันเอาเปรียบกัน ไม่ทำลายพันธุ์ปลา ปลาก็ไม่สูญพันธุ์ สามารถจับปลาได้ตลอดไป ก็จะเป็นทางที่เหมาะสม และจะได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับอ่างเก็บน้ำแห่งอื่น ๆ ต่อไป..."

          จากแนวพระราชดำริดังกล่าวก่อให้เกิดโครงการสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรประมง โดยมีการกำหนดนโยบายส่งเสริมการปล่อยสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาชนิดที่เหมาะสมลงในแหล่งน้ำเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการทดแทนส่วนที่ถูกนำไปใช้และฟื้นฟูทรัพยากรประมงให้มีขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงของประชาชน และในการเสด็จพระราชดำเนินแห่งใดที่มีแหล่งน้ำสาธารณะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงปล่อยพันธุ์ปลาลงในแหล่งน้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ เป็นประโยชน์ต่อราษฏรสืบไป
          กิจกรรมการพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการด้านการประมงในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพและถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเพิ่มผลผลิตในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำในพื้นที่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ได้แก่
          - อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ในโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน จังหวัดเชียงใหม่
          - แหล่งน้ำในลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนในโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง
          - แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาว จังหวัดลำพูน ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำอาว จังหวัดลำพูน
          - แหล่งน้ำในพื้นที่บ้านป่ากลาง อำเภอปัว บ้านน้ำรีพัฒนา และบ้านสบมาง กิ่งอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ในโครงการพัฒนาการประมง เพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน
          - แหล่งน้ำในบริเวณลุ่มน้ำเข็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก จังหวัดเพชรบูรณ์
          - แหล่งน้ำในบริเวณดอยตุง จังหวัดเชียงราย ในโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย
          - แหล่งน้ำในภาคอีสาน ๑๙ จังหวัด ในโครงการอีสานเขียว ซึ่งเป็นโครงการซึ่งถือกำเนิดจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          - อ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำห้วยยาง โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในเขตพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
          - อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสัก ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
          - อ่างเก็บน้ำนาห้วยทราย ห้วยตะแปด ในโครงการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี
          - อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระราชหฤทัยเรื่องการศึกษาวิจัยเพื่อสงวนพันธุ์ปลาน้ำจืด ด้วยการเพาะพันธุ์ อาทิ มีพระราชดำริเกี่ยวกับปลากระโห้ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดมีเกล็ดในกลุ่มปลาคาร์ปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น่าจะได้ดำเนินการศึกษาหาวิธีขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประมงดำเนินการศึกษาวิจัยและ พระราชทานพ่อแม่พันธุ์ปลาที่อยู่ในบ่อสวนจิตรลดาให้ใช้ในการศึกษาวิจัย จนกรมประมงประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลากระโห้ ซึ่งลูกปลาส่วนหนึ่งได้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำต่าง ๆ ยังประโยชน์มหาศาลในการอนุรักษ์พันธุ์ปลากระโห้ให้ยั่งยืน นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้อนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืด ไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีเฉพาะบริเวณแม่น้ำโขง และใกล้จะสูญพันธุ์ ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยและทรงติดตามเป็นเนืองนิจ กรมประมงจึงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึก โดยส่วนหนึ่งได้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมง

พระราชกรณียกิจในเรื่องนี้ประกอบด้วย
          ๑. การจัดการบริหารแหล่งน้ำและการส่งเสริมแนะนำราษฎร ให้รู้จักการบริหารการประมงอย่างถูกวิธีในโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง
          ๒. การส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ในโครงการพัฒนาการประมงในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ห่างจากปากแม่น้ำขึ้นไปประมาณ ๓ กิโลเมตร จัดระบบชลประทานน้ำจืด น้ำเค็ม เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขาดแคลนน้ำ และปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งเมื่อโครงการสำเร็จลงทำให้เกิดการแบ่งเขตระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้มีการจัดเขตการเลี้ยงกุ้งทะเลในเขตน้ำเค็ม มีการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งและการยกเลิกการเลี้ยงกุ้งทะเลในเขตที่เป็นน้ำจืดเพื่อลดผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และมีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการประมงในลุ่มน้ำปากพนัง และจัดตั้งหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรประมง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรประมงให้มีผลผลิตยั่งยืน
          ๓. การสาธิตการบำบัดน้ำเสียจากบ่อกุ้งโดยวิธีชีวภาพ ในโครงการสาธิตการบำบัดน้ำเสียจากบ่อกุ้งโดยวิธีชีวภาพ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ใช้วิธีชีวภาพ เพื่อกำจัดสารอินทรีย์และธาตุอาหารที่ระบายออกมากับน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล โดยใช้สาหร่ายทะเล ปลานิล หอยชนิดต่าง ๆ ซึ่งกรมประมงได้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ บริเวณประตูระบายน้ำ ชลประทาน ท่าพระยา อำเภอปากพนัง
          ๔. การศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการศึกษาสภาพแวดล้อมในอ่าวคุ้งกระเบน การศึกษาสภาพแนวปะการังบริเวณหาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี และการจัดสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานการส่งเสริมการประมงมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงเริ่มรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงปลา ในบ่อแก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นโครงการส่งเสริมครั้งแรกของกรมประมง ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาของกรมประมง ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้บ่อในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นบ่อเพาะขยายพันธุ์ปลาหมอเทศ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานปลาหมอเทศที่ผลิตได้ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วราชอาณาจักร เพื่อนำไปเลี้ยงแพร่ขยายพันธุ์ในตำบลและหมู่บ้านของตน พระราชกรณียกิจดังกล่าว นับว่าเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยทำให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้ และสนใจการเลี้ยงปลาขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริม การสาธิตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักการอนุรักษ์ การจัดการ และการพัฒนาการประมงในแหล่งน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ โดยกิจกรรมด้านการส่งเสริมการประมงในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
          ๑. การส่งเสริมการเลี้ยงปลา การพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยลานเพื่อการประมง การจัดตั้งกลุ่มราษฎรในการบริหารการทำการประมงในอ่างเก็บน้ำและการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน จังหวัดเชียงใหม่
          ๒. ส่งเสริมการเลี้ยงปลา และอบรมการบริหารการประมง บริเวณลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ในโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน
          ๓. การสาธิตการเลี้ยงปลาในเขตพัฒนาการเกษตร อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในโครงการสาธิตการเลี้ยงปลาในเขตพัฒนาการเกษตร จังหวัดแม่ฮ่องสอน
          ๔. ส่งเสริมการเลี้ยงปลาสำหรับราษฎร และส่งเสริมการเลี้ยงปลาในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน ที่อำเภอปัว และกิ่งอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ในโครงการพัฒนาการประมง เพื่อความมั่นคง พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จังหวัดน่าน
          ๕. ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อในพื้นที่โครงการและเลี้ยงปลาในกระชังในอ่างเก็บน้ำแม่วังล้าน อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาว จังหวัดลำพูน
          ๖. ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในพื้นที่ในโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย
          ๗. การสาธิตการเลี้ยงปลาในพื้นที่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการส่งเสริมและสาธิตการเลี้ยงปลาในเขตพื้นที่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
          ๘. ส่งเสริมการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ดินเค็ม การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำประจำโรงเรียน เผยแพร่ความรู้ในด้านการอนุรักษ์ การบริหารจัดการแหล่งน้ำธรรมชาติ และการถนอมและแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนในพื้นที่ ๑๙ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในโครงการอีสานเขียว
          ๙. การส่งเสริมการเลี้ยงปลา การให้ความรู้ทางด้านการปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ในเขตจังหวัดสระแก้ว ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในเขตพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี
          ๑๐. ส่งเสริมสาธิตการเลี้ยงปลาบริเวณตำบลทุ่งลาน และตำบลคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองหอยโข่ง และคลองจำไทร จังหวัดสงขลา
          ๑๑. การส่งเสริมการเลี้ยงปลาในระบบไร่นาสวนผสม การทำนาปลาสลิด และการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนการเลี้ยงกุ้งทะเลในเขตที่เปลี่ยนเป็นบริเวณน้ำจืด การพัฒนาระบบชลประทานน้ำเค็ม และส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ ในโครงการพัฒนาการประมงในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
          ๑๒. การส่งเสริมสาธิตฝึกอบรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา
          ๑๓. การส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนา การสาธิต การเลี้ยงหอย การส่งเสริมการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ในพื้นที่โครงการ ของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
          ๑๔. ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตจังหวัดนราธิวาส ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส
          ๑๕. ส่งเสริมสาธิตการเพาะเลี้ยงปลาในเขตพื้นที่โครงการ ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี
          ๑๖. สาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงปลาในระบบน้ำผ่าน การเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์กลมและการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ทางด้านการอนุรักษ์บริหารจัดการการประมงในแหล่งน้ำในโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
          ๑๗. ส่งเสริมการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน การเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงสุกร และการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่ ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาวิชาการและการวิจัยการประมง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริในการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยในท้องที่ และการค้นคว้าวิจัยแบบผสมผสานระหว่างวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน จึงมีพระราชดำริใหัจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น รวม ๖ แห่ง ในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งศูนย์วิจัยเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเพื่อสนองพระราชดำริโดยในส่วนการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาการประมง กรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการผลจากการดำเนินการของศูนย์เหล่านี้ ทำให้มีการพัฒนางานวิจัยในสาขาประมงที่มีคุณภาพสามารถนำไปประยุกต์ได้ในพื้นที่ และมีผลให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่มีลักษณะผสมผสานที่มองผลกระทบของงานวิจัยในมุมกว้าง ทั้งในด้านการพัฒนาและการอนุรักษ์ กิจกรรมการวิจัยและพัฒนาวิชาการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบด้วย
          ๑. การวิจัยและพัฒนาวิชาการในด้านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาในระบบที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและแนวทางในการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในโครงการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จังหวัดจันทบุรี
          ๒. การวิจัยและพัฒนาวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบผสมผสาน ในโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร
          ๓. การวิจัย และพัฒนาวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการบริหารแหล่งน้ำ เพื่อการประมง ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่
          ๔. การวิจัยและพัฒนาวิชาการ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตดินพรุ ซึ่งเป็นกรดจัดในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส
          ด้วยพระปรีชาสามารถในการพัฒนาการประมงของประเทศ ทั้งในเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การประมง การส่งเสริมและพัฒนาอย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักวิชาการ โดยมีการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงให้อยู่อย่างถาวร ตลอดจนวิสัยทัศน์ในเรื่องหลักการบริหารจัดการประมงให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในทุกภูมิภาค และที่สำคัญยิ่งคือพระวิริยะอุตสาหะที่ได้ทรงพระเมตตาปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ความสำเร็จต่าง ๆ ในการพัฒนาการประมงของเทศ จึงได้บังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมมาโดยลำดับ แสดงถึงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านวิทยาศาสตร์การประมง ซึ่งนำประโยชน์สุขมาสู่พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาคของประเทศ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต






 
Copyright 2009 onepiece . Powered by Blogger
Blogger Templates created by Deluxe Templates
Wordpress by Wpthemescreator